Sunday, December 19, 2010

เริ่มต้นการใช้งาน VPS

หลังจากที่คุณเลือกผู้ให้บริการ VPS เรียบร้อยแล้ว วันนี้ผมจะมาอธิบายขั้นตอนการสมัคร และการใช้งาน VPS ตามขั้นตอนต่อไปนี้ครับ
1. สมัครใช้งาน VPS
หลังจากที่เลือกผู้ให้บริการ VPS เรียบร้อยแล้ว ก็ทำการสมัครและชำระเงินตามปกติได้เลย
ในขั้นตอนการสมัคร บางที่จะให้เลือก OS สำหรับ VPS ของคุณ ก็ให้เลือก CentOS เวอร์ชั่นล่าสุดได้เลยครับ ส่วนใหญ่จะเป็น default อยู่แล้ว ถ้ามีให้เลือกระหว่าง 32 bit กับ 64 bit ก็ให้เลือกแบบ 32 bit จะประหยัด memory มากกว่า ถ้า RAM เหลือเฟือ (1GB ขึ้นไป) จะเลือกแบบ 64 bit ก็ได้ แต่เร็วกว่ากันไม่เท่าไรหรอกครับ
เหตุผลที่เลือก CentOS เพราะว่าเป็น Linux แบบไม่ต้องเสียเงินที่เสถียรที่สุด และมีผู้ใช้กับ VPS มากที่สุด เนื่องจากมีพื้นมาจาก Redhat Enterprise Linux ซึ่งในวงการ นับว่าเป็น Linux สายพันธุ์ที่น่าเชื่อถือที่สุด และจากประสบการณ์ของผมกับ Server จริง CentOS ก็เสถียรจริงครับ
2. รอรายละเอียด
หลังจากชำระเงินแล้ว เมื่อทางผู้ให้บริการจัดการสร้าง VPS ให้เราเสร็จแล้ว ทางผู้ให้บริการก็จะส่งเมลมาบอกรายละเอียดในการเข้าสู่ Server ซึ่งจะประกอบด้วยรายละเอียดที่สำคัญ คือ
  • IP Address : จะเป็น IP ของเครื่อง Server ที่คุณต้องเข้าไปจัดการ
  • ชื่อผู้ใช้และรหัสผ่าน : เอาไว้สำหรับเข้า SSH (Secure Shell) เพื่อจัดการ VPS ของคุณ ชื่อผู้ใช้มักจะเป็น root ส่วนรหัสผ่านก็แล้วแต่คุณตั้งไว้ หรือไม่เขาก็จะส่งรหัสผ่านมาให้ใหม่เลย
นอกนั้น ก็แล้วแต่ผู้ให้บริการ บางเจ้า ก็ให้มาแค่ IP กับชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านเท่านั้นจริงๆ บางเจ้าอาจจะมีหน้าเว็บสำหรับจัดการ VPS ของคุณให้ หรือบางเจ้าก็ให้ Control Panel ลงไว้สำหรับจัดการเครื่องของคุณได้เลย แต่จริงๆแล้ว แค่ IP กับชื่อผู้ใช้และรหัสผ่าน ก็เพียงพอแล้วครับ เพราะที่เหลือเราสามารถจัดการต่อได้เอง
3. ลงโปรแกรม และ Control Panel ถ้าเขาไม่ได้ลงให้

ถ้าผู้ให้บริการของคุณ เขาลงโปรแกรม และลง Control Panel มาให้เรียบร้อยแล้ว คุณสามารถข้ามขั้นนี้ไปได้เลยครับ
แต่ถ้าหากผู้ให้บริการไม่ได้ให้ Control Panel มา และคุณไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในการใช้ SSH ก็ควรจะลง Control Panel ไว้ในเครื่องของคุณ เพื่อที่เวลาจะจัดการ VPS จะได้จัดการผ่านหน้าเว็บได้เลย ซึ่งจะสะดวกกว่าการเข้าไปจัดการที่หน้าจอ SSH
Control Panel นั้น มีหลายยี่ห้อครับ มีทั้งแบบเสียเงินและฟรี
สำหรับแบบเสียเงิน ผมแนะนำ cPanel ครับ ผู้ให้บริการหลายๆเจ้า เวลาสั่งซื้อก็จะมี Option ให้เลือก cPanel ด้วย ซึ่ง cPanel นั้นนับว่าเป็น Control Panel ที่ใช้งานง่ายที่สุดแล้ว ถ้ามีงบพอก็เลือกไปด้วยเลยได้ครับ
แต่ถ้าอยากใช้ของฟรีๆ ผมแนะนำ Webmin ครับ ถึงหน้าตาการใช้งานอาจจะดูกิ๊กก๊อกสำหรับบางคน แต่มันก็มีข้อดีเยอะเหมือนกัน เช่น
  • มีขนาดเล็ก โหลดแป๊บเดียวก็เสร็จแล้ว
  • ลงง่าย ไม่ยุ่งยาก
  • ไม่ต้องการอะไรเลยแม้แต่ Apache หรือ PHP ดังนั้นเราสามารถลงเฉพาะโปรแกรมที่เราต้องการได้ ไม่เปลือง RAM
  • อยู่แยกตัวกับโปรแกรมอื่นอย่างอิสระ ไม่ไปยุ่งกับระบบ เวลาเอาออกก็ไม่กระทบกับระบบ
  • อัพเดทตัวเองได้อัตโนมัติ แค่คลิกเดียว
โปรแกรม Webmin เป็น Control Panel ที่ทำหน้าที่ Control Panel เท่านั้นจริงๆ นั่นคือช่วยให้เราแก้ไข Config และจัดการ Service ผ่านเว็บได้
ถ้าเป็น Control Panel เจ้าอื่น บางทีขนาดใหญ่โต โหลดนาน ลงก็ยาก เวลาลงก็ต้องลงส่วนประกอบอื่นเยอะแยะที่เราอาจไม่ได้ใช้ เช่นลง DNS Server บ้าง ลง Mail Server บ้าง แถมบางทีก็ไปยุ่งกับ Apache อีก เวลาเอาออกก็ลำบาก เนื่องจากไปผูกตัวเองกับระบบอื่นๆเต็มไปหมด
สรุปแล้ว Webmin เป็นทางเลือกที่เหมาะสม ทั้งสำหรับมือใหม่ และสำหรับมือเก๋า เนื่องจากเนื่องจากลงง่าย ไม่ลงโปรแกรมอื่นเยอะแยะ และไม่ไปแก้โครงสร้างดั้งเดิมของ OS ครับ
สรุป
ขั้นตอนการใช้งาน VPS ก็ง่ายๆแค่นี้ล่ะครับ ที่จะยากหน่อย ก็แค่การลงโปรแกรม และ Control Panel แค่นั้นเอง (จริงๆก็ไม่ได้ยากหรอก แต่ไม่คุ้นสำหรับคนส่วนใหญ่มากกว่า) ถ้าลงเสร็จแล้ว หลังจากนั้นคุณก็จัดการ VPS ผ่าน Control Panel ในหน้าเว็บทั้งหมดได้เหมือนกับ Shared Host เลย
สำหรับขั้นตอนการลง Control Panel ที่ชื่อ Webmin รวมทั้งการตั้งค่าเบื้องต้น ผมจะมาแนะนำในตอนต่อไปครับ

0 comments:

Post a Comment

 
Design by GURU